ใจสั่งมา

ผู้ทำบุญแล้ว ย่อมบันเทิงในโลกนี้ ละไปแล้วย่อมบันเทิง ฯลฯ

อิธ โมทติ เปจฺจ โมทติ     กตปุญฺโญ อุภยตฺถ โมทติ
โส โมทติ โส ปโมทติ     ทิสฺวา กมฺมวิสุทฺธิมตฺตโน.

[คำอ่าน]

อิ-ทะ, โม-ทะ-ติ, เปด-จะ, โม-ทะ-ติ….กะ-ตะ-ปุน-โย, อุ-พะ-ยัด-ถะ, โม-ทะ-ติ
โส, โม-ทะ-ติ, โส, ปะ-โม-ทะ-ติ…….ทิด-สะ-หวา, กำ-มะ-วิ-สุด-ทิ-มัด-ตะ-โน

[คำแปล]

“ผู้ทำบุญแล้ว ย่อมบันเทิงในโลกนี้ ละไปแล้วย่อมบันเทิง ชื่อว่าย่อมบันเทิงในโลกทั้งสอง เขาเห็นความบริสุทธิ์แห่งกรรมของตนแล้ว ย่อมบันเทิงปราโมทย์.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/17.

บุญ คือ สภาวะที่ชำระจิตใจให้หมดจดแผ่งแผ้ว ใสสะอาด ปราศจากสภาวะที่ทำให้จิตขุ่นมัว สภาพจิตใจของบุคคลผู้กระทำบุญ ย่อมมีปกติบันเทิงเริงรื่นในขณะที่ทำบุญนั้น เพราะในขณะที่ทำบุญ อารมณ์อันเป็นบาปไม่เกิดขึ้นมาทำให้จิตใจมัวหมอง

คำว่า “บันเทิง” ในที่นี้หมายถึง ความรื่นเริงบันเทิงใจในบุญกุศล หรือความสุขใจเมื่อนึกถึงบุญกุศลที่ตนได้กระทำแล้ว เป็นเหตุให้จิตใจแช่มชื่นรื่นเริง

วิถีแห่งการบำเพ็ญบุญ ท่านจำแนกไว้เป็นหลัก 3 ทาง คือ บำเพ็ญบุญด้วยการให้ทาน อย่างหนึ่ง บำเพ็ญบุญด้วยการรักษาศีล อย่างหนึ่ง บำเพ็ญบุญด้วยการเจริญภาวนา อย่างหนึ่ง

บุคคลผู้บำเพ็ญบุญอย่างสม่ำเสมอ กระทำบุญเมื่อใดย่อมมีความบันเทิงใจเมื่อนั้น แม้เวลาผ่านไป เมื่อเขานึกถึงบุญกุศลที่ตนได้กระทำแล้ว ย่อมมีความสุข มีความภูมิใจในบุญที่ตนได้กระทำแล้วนั้น ท่านจึงกล่าวว่า “ย่อมบันเทิงในโลกนี้”

เมื่อถึงคราวที่เขาต้องตายจากโลกนี้ไป อานิสงส์แห่งบุญทั้งหลายที่เขาได้กระทำไว้ในโลกนี้ ย่อมส่งผลให้เขาเข้าถึงสุคติภูมิในสัมปรายภพเบื้องหน้า ได้รับความสุขความเจริญในภพนั้น ได้เสวยผลแห่งบุญในภพนั้นอีก ท่านจึงกล่าวว่า “ละไปแล้ว ย่อมบันเทิง” คือได้รับความบันเทิงในด้วยอำนาจแห่งบุญในสุคติสัมปรายภพเบื้องหน้านั่นเอง

บุญทั้งหลายที่บุคคลได้กระทำไว้ ย่อมส่งผลให้บุคคลนั้น ๆ เกิดความบันเทิงใจทั้งในโลกนี้และโลกหน้าดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้น พึงทำบุญเอาไว้ให้มาก ๆ เถิด อานิสงส์แห่งบุญเหล่านั้น จะส่งผลให้เราทั้งหลายได้รับความสุขความเจริญ บันเทิงยินดีในทุก ๆ ภพที่เกิดอย่างแน่นอน.