ใจสั่งมา

ผู้ทำบุญแล้ว ย่อมยินดีในโลกนี้ ละไปแล้วย่อมยินดี ฯลฯ

อิธ นนฺทติ เปจฺจ นนฺทติ     กตปุญฺโญ อุภยตฺถ นนฺทติ
ปุญฺญํ เม กตนฺติ นนฺทติ     ภิยฺโย นนฺทติ สุคตึ คโต.

[คำอ่าน]

อิ-ทะ, นัน-ทะ-ติ, เปด-จะ, นัน-ทะ-ติ….กะ-ตะ-ปุน-โย, อุ-พะ-ยัด-ถะ, นัน-ทะ-ติ
ปุน-ยัง, เม, กะ-ตัน-ติ, นัน-ทะ-ติ……………..พิย-โย, นัน-ทะ-ติ, สุ-คะ-ติง, คะ-โต

[คำแปล]

“ผู้ทำบุญแล้ว ย่อมยินดีในโลกนี้ ละไปแล้วย่อมยินดี ชื่อว่าย่อมยินดีในโลกทั้งสอง เขาย่อมยินดีว่าเราทำบุญไว้แล้ว ไปสู่สุคติ ย่อมยินดียิ่งขึ้น.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/17.

บุญ คือ สภาวะที่ชำระจิตใจให้หมดจดแผ่งแผ้ว ใสสะอาด ปราศจากสภาวะที่ทำให้จิตขุ่นมัว สภาพจิตใจของบุคคลผู้กระทำบุญ ย่อมมีปกติรื่นเริงยินดีในขณะที่ทำบุญนั้น เพราะในขณะที่ทำบุญ อารมณ์อันเป็นบาปไม่เกิดขึ้นมาทำให้จิตใจมัวหมอง

วิถีแห่งการบำเพ็ญบุญ ท่านจำแนกไว้เป็นหลัก 3 ทาง คือ บำเพ็ญบุญด้วยการให้ทาน อย่างหนึ่ง บำเพ็ญบุญด้วยการรักษาศีล อย่างหนึ่ง บำเพ็ญบุญด้วยการเจริญภาวนา อย่างหนึ่ง

บุคคลผู้บำเพ็ญบุญอย่างสม่ำเสมอ ย่อมมีจิตใจรื่นเริงยินดีในการบำเพ็ญบุญของตนนั้น และบุคคลอื่นทั้งหลายย่อมสรรเสริญยกย่องเขาในฐานะที่เป็นคนดีมีคุณค่าของสังคม เป็นแบบอย่างที่ดี เป็นต้น นอกจากนี้ ผลแห่งการที่บุคคลนั้นบำเพ็ญบุญอยู่ตลอดเวลา ย่อมเป็นอานิสงส์ให้เขาประสบกับความสุขความเจริญในการดำรงชีวิตในโลกนี้ อานิสงส์แห่งบุญเหล่านั้นทำให้เขาเกิดความรื่นเริงยินดี จึงได้ชื่อว่า ยินดีในโลกนี้

เมื่อถึงคราวที่ต้องตายจากโลกนี้ไป อานิสงส์แห่งบุญทั้งหลายที่เขาได้กระทำไว้ในโลกนี้ ย่อมส่งผลให้เขาเข้าถึงสุคติภูมิในสัมปรายภพเบื้องหน้า ได้รับความสุขความเจริญในภพนั้น ได้เสวยผลแห่งบุญในภพนั้นอีก ได้รับความรื่นเริงยินดีจากบุญญานิสงส์ในสุคติภพที่ตนเกิด

บุญทั้งหลายที่บุคคลได้กระทำ ย่อมส่งผลให้บุคคลนั้น ๆ เกิดความรื่นเริงยินดีทั้งในโลกนี้และโลกหน้าดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้น พึงทำบุญเอาไว้ให้มาก ๆ เถิด อานิสงส์แห่งบุญเหล่านั้น จะส่งผลให้เราทั้งหลายได้รับความสุขความเจริญ บันเทิงยินดีในทุก ๆ ภพที่เกิดอย่างแน่นอน.