สติปัฏฐาน 4 ประการ

สติปัฏฐาน คือ ที่ตั้งของสติ หมายถึง สิ่งที่จะต้องใช้สติกำหนดพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริง คือตามที่สิ่งนั้น ๆ มันเป็นของมัน เพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้ง มี 4 ประการ คือ

1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงกาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

ท่านจำแนกวิธีเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานไว้ 6 อย่าง คือ

  • อานาปานสติ การกำหนดลมหายใจเข้า-ออก
  • อิริยาบถ การกำหนดรู้ทันอิริยาบถ เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน
  • สัมปชัญญะ การกำหนดรู้ทันในการกระทำความเคลื่อนไหวทุกอย่าง
  • ปฏิกูลมนสิการ พิจารณาส่วนประกอบอันไม่สะอาดทั้งหลายที่ประชุมเข้าเป็นร่างกายนี้
  • ธาตุมนสิการ พิจารณาให้เห็นร่างกายโดยความเป็นธาตุแต่ละอย่าง
  • นวสีวถิกา พิจารณาซากศพในสภาพต่าง ๆ

2. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา คือมีสติอยู่พร้อมด้วยความรู้ชัดเวทนาคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นทางกายและทางใจ ทั้งที่เป็นสุข ทั้งที่เป็นทุกข์ และที่เฉย ๆ ทั้งที่อิงอามิส และไม่อิงอามิส ที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้น ๆ ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา

3. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต คือมีสติอยู่พร้อมด้วยความรู้ชัดจิตของตน ที่มีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว ฟุ้งซ่านหรือเป็นสมาธิ เป็นต้น ตามที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงจิต ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา

4. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม คือมีสติอยู่พร้อมด้วยความรู้ชัดธรรมทั้งหลาย ได้แก่ นิวรณ์ 5 ขันธ์ 5 อายตนะ 12 โพชฌงค์ 7 อริยสัจจ์ 4 ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร มีในตนหรือไม่ เกิดขึ้น เจริญบริบูรณ์ และดับไปได้อย่างไร เป็นต้น ตามที่เป็นจริงของมันอย่างนั้นๆ ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา