ใจสั่งมา

ภิกษุเพ่งพินิจ มีจิตหลุดพ้น รู้ความเกิดและความเสื่อมแห่งโลกแล้ว ฯลฯ

ภิกฺขุ สิยา ฌายิ วิมุตฺตจิตฺโต
อากงฺเข เว หทยสฺสานุปตฺตึ
โลกสฺส ญตฺวา อุทยพฺพยญฺจ
สุเจตโส อนิสฺสิโต ตทานิสํโส.

[คำอ่าน]

พิก-ขุ, สิ-ยา, ชา-ยิ, วิ-มุด-ตะ-จิด-โต
อา-กัง-เข, เว, หะ-ทะ-ยัด-สา-นุ-ปัด-ติง
โล-กัด-สะ, ยัด-ตะ-วา, อุ-ทะ-ยับ-พะ-ยัน-จะ
สุ-เจ-ตะ-โส, อะ-นิด-สิ-โต, ตะ-ทา-นิ-สัง-โส

[คำแปล]

“ภิกษุเพ่งพินิจ มีจิตหลุดพ้น รู้ความเกิดและความเสื่อมแห่งโลกแล้ว มีใจดี ไม่ถูกกิเลสอาศัย มีธรรมนั้นเป็นอานิสงส์ พึงหวังความบริสุทธิ์แห่งใจได้.”

(เทวปุตฺต) สํ.ส. 14/73.

คำว่า “ภิกษุ” มากจากคำว่า “ภิกฺขุ” แปลว่า ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ดังนั้น ภิกษุ พึงพิจารณาให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าวัฏสงสารนั้นมีภัยอย่างไร และพยายามทำตนให้พ้นจากภัยในวัฏสงสารนั้นเสียให้ได้

โลก คือมนุษย์และสัตว์ทั้งปวง รวมทั้งสรรพสิ่งทั้งหมดในโลกคือแผ่นดินนี้ ล้วนมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ไม่มีสิ่งใดหรือผู้ใดเที่ยงแท้แน่นอน ทุกคนทุกสิ่งล้วนตกอยู่ภายใต้กฎพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยกันทั้งสิ้น

มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ล้วนเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารอันยาวนาน เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด ต้องทนทุกข์กับการเวียนว่ายตายเกิดไม่จบสิ้น เพราะถูกกิเลสตัณหาครอบงำ ถูกอวิชชาห่อหุ้ม ทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสารได้ การเวียนว่ายตายเกิดประสบทุกข์ไม่รู้จบสิ้นนี้เอง คือภัยใหญ่ในวัฏสงสาร

หากภิกษุหมั่นเพ่งพิจารณาเนือง ๆ ให้เห็นภัยใหญ่ในวัฏสงสาร หมั่นสร้างทางหลบหนีจากภัยใหญ่ดังกล่าวด้วยการเจริญวิปัสสนาภาวนาอบรมสติปัญญาอยู่เนือง ๆ เมื่อบารมีถึงพร้อม ย่อมสามารถทำให้จิตหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสได้ ไม่ถูกกิเลสครอบงำ เข้าถึงความบริสุทธิ์หมดจดคือพระนิพพานได้ เมื่อนั้น ภิกษุนั้นย่อมหลุดพ้นจากภัยใหญ่ในวัฏสงสาร ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก ไม่ต้องประสบกับทุกข์ในวัฏสงสารนี้อีกต่อไป.