ใจสั่งมา

คนใดมีจิตไม่ท้อถอย มีใจไม่หดหู่ บำเพ็ญกุศลธรรมเพื่อบรรลุธรรม ฯลฯ

โย อลีเนน จิตฺเตน     อลีนมนโส นโร
ภาเวติ กุสลํ ธมฺมํ     โยคกฺเขมสฺส ปตฺติยา
ปาปุเณ อนุปุพฺเพน     สพฺพสํโยชนกฺขยํ.

[คำอ่าน]

โย, อะ-ลี-เน-นะ, จิด-เต-นะ……อะ-ลี-นะ-มะ-นะ-โส, นะ-โร
พา-เว-ติ, กุ-สะ-ลัง, ทำ-มัง…..โย-คัก-เข-มัด-สะ, ปัด-ติ-ยา
ปา-ปุ-เน, อะ-นุ-ปุบ-เพ-นะ….สับ-พะ-สัง-โย-ชะ-นัก-ขะ-ยัง

[คำแปล]

“คนใดมีจิตไม่ท้อถอย มีใจไม่หดหู่ บำเพ็ญกุศลธรรมเพื่อบรรลุธรรมที่เกษมจากโยคะ พึงบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นสังโยชน์ทั้งปวงได้.”

(พุทฺธ) ขุ.ชา.เอก. 27/18.

ในการประกอบกิจการงานทั้งปวง กำลังใจหรือสภาพจิตใจที่เข้มแข็ง สุขภาพจิตที่ดี เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะสุขภาพจิตที่ดี ไม่หดหู่ ไม่ถ้อทอย จะช่วยให้บุคคลมีพลังในการประกอบกิจการนั้น ๆ ให้สำเร็จลุล่วงได้

ในการสร้างคุณงามความดีและการสร้างบารมีขั้นสูงคือการปฏิบัติธรรมกรรมฐานก็เช่นกัน พลังใจที่ดี สุขภาพจิตที่ดีนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะหากบุคคลมีสภาพจิตใจที่ไม่พร้อม ท้อถอย หดหู่เสียแล้ว ย่อมไม่มีกำลังใจ ไม่มีความเพียรที่จะบำเพ็ญธรรมให้สำเร็จประโยชน์ ไม่สามารถทำลายสังโยชน์อันเป็นเหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้

แต่หากมีสภาพจิตใจที่เข้มแข็ง ไม่ท้อถอย ไม่หดหู่ ย่อมมีกำลังใจที่จะบำเพ็ญกุศลธรรมต่อไป และสามารถสำเร็จประโยชน์แห่งการบำเพ็ญธรรมนั้นได้ในที่สุด

สิ่งที่จะทำให้จิตใจท้อถอยหดหู่นั้นก็ได้แก่นิวรณ์ที่คอยครอบงำจิตใจ ทำให้จิตใจเศร้าหมอง เกิดความท้อถอย ท้อแท้ หดหู่ใจ ไม่อยากบำเพ็ญกุศลธรรมต่อไป สุดท้ายก็หยุดเสียกลางคัน เป็นผลให้ไม่สามารถบำเพ็ญกุศลธรรมให้สำเร็จประโยชน์ ไม่สามารถทำลายสังโยชน์อันเป็นสาเหตุให้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารได้

ดังนั้น เมื่อบุคคลตั้งใจปฏิบัติกรรมฐานอันเป็นกุศลธรรมเป็นที่เกษมจากโยคะ พึงสร้างพลังใจให้เข้มแข็ง อดทนอดกลั้น อดทนต่อกำลังของนิวรณ์อันจะเกิดขึ้นมาขัดขวางการปฏิบัติธรรมเสียให้ได้ หากสามารถอดทนอดกลั้นต่อนิวรณ์ได้แล้ว จิตใจย่อมเข้มแข็ง ไม่ท้อถอย ไม่หดหู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมจะสามารถบรรลุผลของการปฏิบัติธรรม สามารถทำลายสังโยชน์ได้ในที่สุด.