ใจสั่งมา

ผู้มีปัญญา พึงรักษาจิตที่เห็นได้ยากนัก ละเอียดนัก มักตกไปในอารมณ์ ฯลฯ

สุทุทฺทสํ สุนิปุณํ     ยตฺถ กามนิปาตินํ
จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี     จิตฺตํ คุตฺตํ สุขาวหํ.

[คำอ่าน]

สุ-ทุด-ทะ-สัง, สุ-นิ-ปุ-นัง…..ยัด-ถะ, กา-มะ-นิ-ปา-ติ-นัง
จิด-ตัง, รัก-เข-ถะ, เม-ทา-วี…..จิด-ตัง, คุด-ตัง, สุ-ขา-วะ-หัง

[คำแปล]

“ผู้มีปัญญา พึงรักษาจิตที่เห็นได้ยากนัก ละเอียดนัก มักตกไปในอารมณ์ที่น่าใคร่ (เพราะว่า) จิตที่คุ้มครองแล้ว นำสุขมาให้.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/19.

ธรรมชาติของจิตคือวอกแวก ไม่อยู่กับที่ ซัดส่ายไปมา เหมือนลิงที่กระโดดไปยังต้นไม้ต้นโน้นทีต้นนี้ที อยู่เฉยไม่ได้ นอกจากนั้นยังมีสภาพละเอียดอ่อน และมักตกไปในอารมณ์ต่ำ ๆ ที่น่าใคร่น่าพอใจตามอำนาจของกิเลสอยู่เสมอ

จิตนี้ถ้ารักษาไม่ดี คุ้มครองไม่ดี คือไม่มีหลักธรรมมาคอยควบคุมเสียแล้ว ย่อมซัดส่ายไปตามอารมณ์ต่าง ๆ ตามอำเภอใจ ส่วนใหญ่เป็นอารมณ์ที่ต่ำ จึงเป็นการง่ายนักที่จิตนั้นจะบงการให้บุคคลกระทำกรรมชั่วช้าลามกต่าง ๆ ตามอำนาจกิเลสหรืออารมณ์ต่ำ ๆ นั้นคอยสั่งการ

เมื่อบุคคลกระทำกรรมชั่วช้าลามกตามที่จิตคอยสั่งการตามอำนาจของกิเลสเช่นนั้น ผลแห่งความชั่วทั้งปวงก็ย่อมมาตกอยู่ที่บุคคลนั้นนั่นเอง

ดังนั้น จึงเป็นการจำเป็นอย่างยิ่ง ที่บุคคลจะต้องน้อมนำหลักธรรมคำสอนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาคุ้มครองรักษาจิต ฝึกจิตให้เป็นจิตที่ดี ยึดมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดี ห่างไกลจากกิเลส ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส คือไม่ถูกกิเลสครอบงำ

เมื่อบุคคลสามารถน้อมนำหลักศีลธรรมอันดีมาเป็นเครื่องคุ้มครองรักษาจิตใจให้ดีได้แล้ว จิตนั้นจะเป็นจิตที่ดี ประกอบด้วยคุณธรรม เป็นเหตุให้จิตนั้นสั่งการให้กายกระทำแต่กรรมที่ดีมีประโยชน์ เป็นบุญเป็นกุศล อันจะเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุขความเจริญแก่บุคคลนั้น ๆ.