ใจสั่งมา

เมื่อให้ทานในวัตถุอันเลิศ บุญอันเลิศ อายุ วรรณะ ยศ เกียรติ สุข ฯลฯ

อคฺคสฺมึ ทานํ ททตํ     อคฺคํ ปุญฺญํ ปวฑฺฒติ
อคฺคํ อายุ จ วณฺโณ จ     ยโส กิตฺติ สุขํ พลํ.

[คำอ่าน]

อัก-คัด-สะ-หมิง, ทา-นัง, ทะ-ทะ-ตัง….อัก-คัง, ปุน-ยัง, ปะ-วัด-ทะ-ติ
อัก-คัง, อา-ยุ, จะ, วัน-โน, จะ….ยะ-โส, กิด-ติ, สุ-ขัง, พะ-ลัง

[คำแปล]

“เมื่อให้ทานในวัตถุอันเลิศ บุญอันเลิศ อายุ วรรณะ ยศ เกียรติ สุข และกำลังอันเลิศ ย่อมเจริญ.”

(พุทฺธ) ขุ.อิติ. 25/299.

การให้ทาน คือการเสียสละแบ่งปันสิ่งของของตนเองเพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น เช่น การบำรุงพระสงฆ์ด้วยอาหารบิณฑบาต เพื่อให้พระสงฆ์ได้มีกำลังในการศึกษาและปฏิบัติธรรมและเผยแผ่พระศาสนาต่อไป การบริจาคทรัพย์สินเพื่อการสาธารณกุศล เป็นต้น

การให้ทานนี้ถือเป็นบุญกิริยาวัตถุเบื้องต้นในพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่าบุญอย่างอื่น เป็นบุญขั้นพื้นฐานที่คนนิยมทำกันมาก

การให้ทานนั้น แบ่งตามประเภทของผู้ให้มี 3 ระดับ คือ

  1. ทานทาสะ แปลว่า ทาสแห่งทาน หมายถึง บุคคลผู้ให้ของที่ด้อยกว่าของที่ตนบริโภค คือ เวลาจะให้ทาน ย่อมเลือกให้สิ่งที่ตนไม่นิยม ไม่ชอบ หรือของที่มีเกรดต่ำกว่าของที่ตนบริโภคใช้สอย
  2. ทานสหาย แปลว่า สหายแห่งทาน หมายถึง บุคคลผู้ให้สิ่งของที่เสมอกับที่ตนใช้สอย คือตนเองบริโภคของอย่างไร ใช้สอยของอย่างไร เวลาให้แก่คนอื่นก็ให้ของเช่นนั้น
  3. ทานสามี แปลว่า เจ้าแห่งทาน หมายถึง บุคคลผู้ให้สิ่งของที่ดีกว่าสิ่งของที่ตนบริโภคใช้สอย เมื่อจะให้สิ่งของใด ๆ แก่ใคร ๆ ย่อมเลือกให้สิ่งที่ดีที่สุด

อานิสงส์ของการให้ทานจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ปัจจัยอย่างหนึ่งที่มีผลต่ออานิสงส์ของการให้ทานก็คือวัตถุที่ให้ ถ้าสิ่งที่ให้นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดีมีค่าน้อย อานิสงส์ย่อมน้อยไปด้วย ถ้าสิ่งที่ให้นั้นเป็นสิ่งที่ดีมีค่ามาก อานิสงส์ก็ย่อมมากไปด้วยเช่นกัน

เป็นอันสรุปได้ว่า ถ้าวัตถุทานเป็นสิ่งที่เลิศ อานิสงส์ที่เกิดขึ้นย่อมเป็นอานิสงส์ที่เลิศด้วยเช่นกัน

ผู้ที่บำเพ็ญทานมัยบุญกิริยาวัตถุด้วยวัตถุอันดีเลิศ ย่อมได้รับอานิสงส์ผลบุญที่ประณีตดีเลิศ มีอายุยืนยาว ผิวพรรณผ่องใส มียศสูง ได้รับเกียรติในสังคม มีความสุขความเจริญ และมีผู้คอยช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม การให้ทานนั้น พึงให้ด้วยปัญญา คือ ให้สิ่งที่ควรให้ ให้แก่ผู้ควรให้ และอย่าทำให้ตนเองต้องเดือดร้อนเพราะการให้นั้น.