ใจสั่งมา

ผู้ใดทำกรรมชั่ว ล่อลวงเอาทรัพย์สมบัติพี่น้องพ่อแม่ ผู้นั้น มีจิตชั่วร้าย ฯลฯ

ปทุฏฺฐจิตฺตสฺส น ผาติ โหติ
น จาปิ นํ เทวตา ปูชยนฺติ
โย ภาตรํ เปตฺติกํ สาปเตยฺยํ
อวญฺจยี ทุกฺกฏกมฺมการี.

[คำอ่าน]

ปะ-ทุด-ถะ-จิด-ตัด-สะ, นะ, ผา-ติ, โห-ติ
นะ, จา-ปิ, นัง, เท-วะ-ตา, ปู-ชะ-ยัน-ติ
โย, พา-ตะ-รัง, เปด-ติ-กัง, สา-ปะ-ไต-ยัง
อะ-วัน-จะ-ยี, ทุก-กะ-ตะ-กำ-มะ-กา-รี

[คำแปล]

“ผู้ใดทำกรรมชั่ว ล่อลวงเอาทรัพย์สมบัติพี่น้องพ่อแม่ ผู้นั้น มีจิตชั่วร้าย ย่อมไม่มีความเจริญ แม้เทวดาก็ไม่บูชาเขา.”

(นทีเทวตา) ขุ.ชา.ติก. 27/120.

การถือเอาทรัพย์สินของผู้อื่นโดยที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้และไม่ยินยอม เป็นการกระทำผิดศีลข้อที่ 2 คือ อทินนาทาน ซึ่งหมายถึง การขโมย ฉ้อโกง ฉก ชิง ปล้น หรือกิริยาอื่นใดก็ตามที่ทำให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมิชอบ ถือเป็นความชั่วที่ควรละเว้น

บุคคลผู้มีอภิชฌาครอบงำจิต เพ่งเล็งอยากได้ของของคนอื่นมาครอบครอง ย่อมจะหลงผิดไปกระทำอทินนาทานได้อย่างง่ายดาย ด้วยการลักเอาของของผู้อื่นบ้าง ล่อลวงฉ้อโกงเอาทรัพย์สินของผู้อื่นบ้าง โดยที่สุดแม้แต่ญาติพี่น้องก็ยังล่อลวงฉ้อโกงกันได้

บุคคลผู้มีอภิชฌาเกินประมาณ ล่อลวงเอาทรัพย์สมบัติของพ่อแม่พี่น้องหรือคนอื่น ๆ มาครอบครองเป็นของตนเองนั้น ถือเป็นคนชั่วประเภทหนึ่ง สร้างความเดือดร้อนฉิบหายให้ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ย่อมไม่ได้รับการสรรเสริญจากใคร ๆ หาความเจริญมิได้

ดังนั้น บุคคลพึงกำจัดอภิชฌาคือความเพ่งเล็งอยากได้ของของคนอื่นออกจากจิตใจเสียให้ได้ ไม่เช่นนั้นแล้ว จะถูกมันควบคุม บงการให้กระทำอทินนาทานอันเป็นทางสร้างความพินาศให้แก่ตนเองและผู้อื่นอย่างไม่หยุดหย่อน และจะประสบกับความฉิบหายทั้งในโลกนี้และโลกหน้า.