ใจสั่งมา

ผู้ใด จักสำรวมจิตที่ไปไกล เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีรูปร่าง ฯลฯ

ทูรงฺคมํ เอกจรํ     อสรีรํ คุหาสยํ
เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ     โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา.

[คำอ่าน]

ทู-รัง-คะ-มัง, เอ-กะ-จะ-รัง…..อะ-สะ-รี-รัง, คุ-หา-สะ-ยัง
เย, จิด-ตัง, สัน-ยะ-เมด-สัน-ติ…..โมก-ขัน-ติ, มา-ระ-พัน-ทะ-นา

[คำแปล]

” ผู้ใด จักสำรวมจิตที่ไปไกล เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีรูปร่าง มีถ้ำ (คือกาย) เป็นที่อาศัย ผู้นั้น จักพ้นจากเครื่องผูกของมารได้. “

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 19/20.

ธรรมชาติของจิตนั้นเปรียบเสมือนน้ำ คือมักไหลลงสู่ที่ต่ำเสมอ น้ำย่อมไหลลงไปสู่ที่ต่ำโดยธรรมชาติ ฉันใด จิตย่อมไหลไปสู่อารมณ์ต่ำ ๆ โดยธรรมชาติ ฉันนั้น ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องง่ายที่บุคคลจะกระทำกรรมอันชั่วช้าลามกอยู่บ่อย ๆ เพราะจิตมักจะชักนำบุคคลให้กระทำกรรมเช่นนั้นอยู่เนือง ๆ นั่นเอง

โบราณว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” พุทธศาสนาก็สอนว่า “ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐสุด สำเร็จด้วยใจ” นั่นก็สื่อความหมายชัดเจนอยู่แล้วว่า ร่างกายอันยาววา หนาคืบ กว้างศอก นี้ ถูกควบคุมอยู่โดยจิต คือจิตเป็นผู้สั่งการให้กระทำกรรมดีหรือชั่ว ส่วนกายนั้นคิดเองไม่ได้ คอยทำกรรมตามที่จิตสั่งการเท่านั้น

หากจิตเป็นจิตที่ดี ย่อมสั่งการไปในทางที่ดี กายย่อมกระทำกรรมที่ดี เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น หากจิตเป็นจิตที่ไม่ดี ย่อมสั่งการไปในทางที่ไม่ดี กายย่อมกระทำกรรมที่ไม่ดี สร้างโทษแก่ตนเองและผู้อื่น

แต่จิตจะดีหรือไม่ดีนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลจะสามารถสำรวมจิตได้ดีแค่ไหน คำว่า “สำรวม” มาจากคำว่า “สังวร” ซึ่งแปลว่า “ป้องกัน” หรือ “ระวัง” ดังนั้น การสำรวมจิต จึงหมายถึง การป้องกันจิตหรือระวังจิตไม่ให้ถูกกิเลสครอบงำและชักนำให้กระทำกรรมชั่วต่าง ๆ นานา หากบุคคลสามารถสำรวมจิตได้ ไม่ถูกกิเลสครอบงำ ย่อมสามารถพ้นจากอำนาจของมารคือกิเลสได้ ไม่ตกเป็นทาสของกิเลส และบริสุทธิ์หมดจดจากบาปอกุศลทั้งปวง.