ใจสั่งมา

โจรกับโจร หรือไพรีกับไพรี พึงทำความพินาศให้แก่กัน ส่วนจิต ฯลฯ

ทิโส ทิสํ ยนฺตํ กยิรา     เวรี วา ปน เวรินํ
มิจฺฉาปณิหิตํ จิตฺตํ     ปาปิโย นํ ตโต กเร.

[คำอ่าน]

ทิ-โส, ทิ-สัง, ยัน-ตัง, กะ-ยิ-รา…..เว-รี, วา, ปะ-นะ, เว-ริ-นัง
มิด-ฉา-ปะ-นิ-หิ-ตัง, จิด-ตัง…..ปา-ปิ-โย, นัง, ตะ-โต, กะ-เร

[คำแปล]

“โจรกับโจร หรือไพรีกับไพรี พึงทำความพินาศให้แก่กัน ส่วนจิตที่ตั้งไว้ผิด พึงทำเขาให้เสียหายยิ่งกว่านั้น.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/20.

ธรรมดาคนที่เป็นศัตรูคู่อาฆาตกัน ย่อมคอยจ้องเล่นงานกัน ห้ำหั่นกัน จ้องสร้างความเดือดร้อนฉิบหายให้แก่กันและกัน เรียกได้ว่า จองเวรจองกรรมกันอย่างไม่หยุดหย่อน

คนที่เป็นศัตรูคู่อาฆาตกันเหล่านั้น คอยแต่จะทำลายทำร้ายกันอยู่เสมอก็จริงอยู่ แต่พวกเขาก็ทำร้ายกันได้แต่เพียงเท่ากำลังของมนุษย์เท่านั้น สร้างความฉิบหายให้กันได้แต่เพียงเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้เท่านั้น

แต่จิตที่ตั้งไว้ผิด คือจิตของเราเองนี่แหละ ที่ไม่ได้รับการอบรมให้มีคุณธรรม ไม่ได้รับการฝึกให้เป็นจิตที่ดี ย่อมสร้างความฉิบหายให้เราได้มากยิ่งกว่าคนที่เป็นศรัตรูกันสร้างความฉิบหายให้กันเสียอีก

จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมชักจูงเราให้ทำกรรมชั่วต่าง ๆ นานา ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ทำผิดศีลผิดธรรม ประพฤติชั่วไม่กลัวบาป และกรรมชั่วเหล่านั้นจะทำให้เราต้องได้รับโทษทางสังคม เช่น ถูกตำรวจจับ ถูกสังคมรังเกียจ ถูกประณามหยามเหยียด เป็นต้น

นอกจากโทษในชาตินี้แล้ว กรรมชั่วทั้งหลายที่เราได้ทำไปเพราะจิตที่ตั้งไว้ผิด ยังสามารถนำพาเราไปสู่อบายภูมิในสัมปรายภพเบื้องหน้าหลังจากที่ตายไปแล้วได้อีก ยกตัวอย่างเช่น คนที่ไปฆ่าคนอื่นตาย ย่อมถูกตำรวจจับติดคุก หรือโดนประหารชีวิต นี่เป็นโทษทางสังคม นอกจากนั้น หลังจากที่เขาตายไปแล้ว เขาต้องไปตกนรกชดใช้กรรมที่ทำไว้อีก นี่เป็นโทษของกรรมอันเกิดจากจิตที่ตั้งไว้ผิด

จะเห็นได้ว่า จิตที่ตั้งไว้ผิดนั้นสามารถสร้างความเดือดร้อนฉิบหายให้เราได้มากมายและยิ่งใหญ่กว่าความเดือดร้อนฉิบหายที่ศัตรูคู่อาฆาตจะสามารถสร้างให้เราได้เสียอีก

ดังนั้น พุทธศาสนาจึงสอนให้พวกเราเหล่าสาวกหมั่นฝึกจิตของตนให้เป็นจิตที่ตั้งไว้ชอบ คืออบรมจิตให้เป็นจิตที่ดี ดำรงมั่นอยู่ในคุณธรรม สร้างแต่คุณงามความดี ไม่ประพฤติชั่ว รู้จักเกรงกลัวและละอายต่อบาป หลีกเลี่ยงบาปอกุศล เพื่อความสุขสงบทั้งในภพนี้และภพหน้า.