ใจสั่งมา

สติกำหนดลมหายใจเข้าออก อันผู้ใดอบรมบริบูรณ์ดีแล้ว ฯลฯ

อานาปานสฺสติ ยสฺส     ปริปุณฺณา สุภาวิตา
กาโยปิ อนิญฺชิโต โหติ     จิตฺตมฺปิ โหติ อนิญฺชิตํ.

[คำอ่าน]

อา-นา-ปา-นัด-สะ-ติ, ยัด-สะ…..ปะ-ริ-ปุน-นา, สุ-พา-วิ-ตา
กา-โย-ปิ, อะ-นิน-ชิ-โต, โห-ติ…..จิด-ตำ-ปิ, โห-ติ, อะ-นิน-ชิ-ตัง

[คำแปล]

“สติกำหนดลมหายใจเข้าออก อันผู้ใดอบรมบริบูรณ์ดีแล้ว ทั้งกายทั้งจิตของผู้นั้นก็ไม่หวั่นไหว.”

(สารีปุตฺต) ขุ.ปฏิ. 31/250.

อานาปานสติ คือหลักปฏิบัติกรรมฐาน เป็นได้ทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน เป็นหลักปฏิบัติเพื่อความสงบระงับแห่งกายและจิต เพื่อทำลายกิเลส และเพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งในสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง จนสามารถเข้าถึงพระนิพพานได้ในที่สุด

อานาปานสตินี้เป็นสิ่งสำคัญที่บุคคลผู้ต้องการพ้นทุกข์ต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้จิตสงบระงับจากกิเลสทั้งปวง กลายเป็นจิตที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เป็นไทจากอาสวะทั้งปวง

บุคคลผู้เอาใจใส่อานาปานสติ อบรมอานาปานสติให้บริบูรณ์อยู่เสมอ คือหมั่นปฏิบัติกรรมฐานอยู่เนือง ๆ เขาย่อมสามารถที่จะทำลายกิเลสตัณหาภายในจิตใจได้ทีละน้อยจนหมดไปในที่สุด ไม่ถูกกิเลสตัณหาครอบงำ ไม่ต้องดิ้นรนแสวงหาสิ่งที่ต้องการทั้งปวงตามอำนาจกิเลสตัณหาเหล่านั้นบงการ ไม่ก่อทุกข์ก่อโทษตามอารมณ์ทั้งหลายที่มากระทบจิต เพราะไม่ถูกอารมณ์เหล่านั้นบงการชักจูง

เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาย่อมสามารถทำลายกิเลสที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ได้ ไม่ถูกกิเลสบงการชักนำให้สร้างกรรมทำเข็ญอีกต่อไป สุดท้าย เมื่อสามารถเข้าถึงนิพพานได้ เขาย่อมไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในห้วงสังสารวัฏอีก สามารถทำลายกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง ไม่ต้องจมอยู่กับกองทุกข์ใหญ่ในสังสารวัฏอีกต่อไป.