นตฺถิ ตณฺหาสมา นที “แม่น้ำเสมอด้วยตัณหา ไม่มี”

นตฺถิ ตณฺหาสมา นที.

[คำอ่าน : นัด-ถิ, ตัน-หา-สะ-มา, นะ-ที]

“แม่น้ำเสมอด้วยตัณหา ไม่มี”

(ขุ.ธ. 25/48)

ตัณหา คือ ความทะยานอยาก มี 3 อย่าง คือ

  1. กามตัณหา ความอยากในอารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
  2. ภวตัณหา ความอยากเป็นโน่นอยากเป็นนี่
  3. วิภวตัณหา ความอยากหลุดพ้นจากสภาวะที่ไม่ชอบใจ หรือความไม่อยากเป็นโน่นนี่นั่นเอง

ตัณหาทั้ง 3 อย่าง ดังกล่าวมาแล้วนั้น เป็นมูลรากสำคัญที่ทำให้สรรพสัตว์ต้องเป็นทุกข์ ต้องวนเวียนอยู่ในห้วงมหรรณพภพสงสารนี้ไม่รู้จักจบสิ้น สัตว์ทั้งหลายตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย ไม่รู้จบสิ้น ก็เพราะอำนาจของตัณหานี้เป็นตัวการ

แม่น้ำสายใหญ่ยังมีวันเต็มได้ด้วยน้ำฝนที่ตกลงมาบ่อย ๆ แต่ตัณหาในใจสรรพสัตว์นั้น ไม่มีวันเต็ม เพราะสรรพสัตว์ในโลกนี้ มีความต้องการอยู่ตลอดเวลา มีความทะยานอยากอยู่ตลอดเวลา แม้ได้สิ่งที่ตนต้องการมาบำรุงบำเรอตนสมปรารถนาแล้ว ก็ยังอยากมีอยากได้มากยิ่งขึ้นต่อไปอีก ไม่รู้จักจบสิ้น ไม่รู้จักอิ่มเต็ม

ท่านจึงกล่าวว่า แม่น้ำเสมอด้วยตัณหา ไม่มี