ใจสั่งมา

ผู้ถูกตัณหาครอบงำ ถูกศีลพรตผูกมัด ประพฤติตบะอันเศร้าหมอง ฯลฯ

ตณฺหาธิปนฺนา วตฺตสีลพทฺธา
ลูขํ ตปํ วสฺสสตํ จรนฺตา
จิตฺตญฺจ เนสํ น สมฺมา วิมุตฺตํ
หีนตฺตรูปา น ปารงฺคมา เต.

[คำอ่าน]

ตัน-หา-ทิ-ปัน-นา, วัด-ตะ-สี-ละ-พัด-ทา
ลู-ขัง, ตะ-ปัง, วัด-สะ-สะ-ตัง, จะ-รัน-ตา
จิด-ตัน-จะ, เน-สัง, นะ, สำ-มา, วิ-มุด-ตัง
หี-นัด-ตะ-รู-ปา, นะ, ปา-รัง-คะ-มา, เต

[คำแปล]

“ผู้ถูกตัณหาครอบงำ ถูกศีลพรตผูกมัด ประพฤติตบะอันเศร้าหมองตั้งร้อยปี จิตของเขาก็หลุดพ้นด้วยดีไม่ได้ เขามีตนเลว จะถึงฝั่งไม่ได้.”

(พุทฺธ) สํ.ส. 15/40.

ตัณหา คือ ความทะยานอยาก มี 3 ประการ คือ กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม อยากได้อารมณ์อันน่าใคร่น่าพอใจ ภวตัณหา ความทะยานอยากในภพ อยากเป็นนั่นอยากเป็นนี่ และ วิภวตัณหา ความทะยานอยากในวิภพ อยากไม่เป็นนั่นอยากไม่เป็นนี่

ตัณหาทั้ง 3 ประการนี้ เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้นจะต้องละเสียให้ได้ ตราบใดที่ยังละตัณหาไม่ได้ ยังถูกตัณหาครอบงำอยู่ ย่อมไม่สามารถที่จะเข้าถึงฝั่งคือพระนิพพานได้

ศีลพรต ประกอบด้วย 2 คำ คือ “ศีล” และ “พรต” ศีล คือข้อที่ต้องสำรวมระวัง จะละเมิดเสียมิได้ พรต หรือ วัตร คือข้อปฏิบัติที่พึงดำเนินตาม บุคคลผู้ยึดมั่นถือมั่นในศีลพรตอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างสุดโต่ง ไม่ดำเนินตามทางสายกลาง ย่อมไม่สามารถเข้าถึงพระนิพพานได้

ตบะ คือ ความเพียรเครื่องเผากิเลส เป็นวิธีปฏิบัติบำเพ็ญตนเพื่อทำให้กิเลสเบาบางลง ซึ่งวิธีที่จะทำให้กิเลสเบาบางลงได้นั้น ต้องดำเนินตามวิถีแห่งอริยมรรคมีองค์ 8 ปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน จึงจะสามารถทำให้กิเลสเบาบางลง และเข้าถึงพระนิพพานได้เมื่อบารมีเต็มเปี่ยม หากบำเพ็ญตบะผิดทางผิดวิธีเสียแล้ว ย่อมไม่สามารถทำให้กิเลสเบาบางลงได้

ผู้ที่ถูกตัณหาครอบงำ ยึดมั่นในศีลพรต และบำเพ็ญตบะผิดวิธี แม้จะเพียรพยายามอยู่เป็น 100 ปีหรือมากกว่า ก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงฝั่งคือพระนิพพานได้.