ใจสั่งมา

บาปกรรมที่ทำแล้วย่อมไม่เปลี่ยนแปลง ฯลฯ

น หิ ปาปํ กตํ กมฺมํ     สชฺชุขีรํว มุจฺจติ
ฑหนฺตํ พาลมนฺเวติ     ภสฺมาจฺฉนฺโนว ปาวโก.

[คำอ่าน]

นะ, หิ, ปา-ปัง, กะ-ตัง, กำ-มัง…………………..…สัด-ชุ-ขี-รัง-วะ, มุด-จะ-ติ
ทะ-หัน-ตัง, พา-ละ-มัน-นะ-เว-ติ….พัด-สะ-มาด-ฉัน-โน-วะ, ปา-วะ-โก

[คำแปล]

“บาปกรรมที่ทำแล้วย่อมไม่เปลี่ยนแปลง เหมือนนมสดที่รีดในวันนั้น บาปกรรมย่อมตามเผาคนเขลา เหมือนไฟที่เถ้ากลบไว้.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/24.

กรรมอันเป็นบาปทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นบาปเล็กน้อยหรือบาปใหญ่ เมื่อบุคคลได้กระทำลงไปแล้ว กรรมอันเป็นบาปนั้นย่อมไม่มีวันเปลี่ยนแปลง คือไม่สามารถแปรสภาพเป็นอย่างอื่นไปได้ บาปนั้นก็ยังคงเป็นบาปอยู่วันยังค่ำ ยังสามารถให้ผลอันเผ็ดร้อนได้ตลอดเวลาที่บาปนั้นยังไม่หมด

บุคคลผู้ขาดปัญญา ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ เมื่อเผลอไปทำบาปเข้าก็จะต้องได้รับผลของบาปนั้นในวันที่บาปนั้นสามารถให้ผลได้ ถึงแม้ว่าเขาจะทำบาปโดยไม่รู้ก็ตาม นั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่บาปนั้นจะไม่ให้ผล

เช่นเดียวกับถ่านไฟที่ถูกเถ้ากลบอยู่ ถึงแม้จะมองไม่เห็น แต่ถ่านไฟนั้นก็ยังร้อนและสามารถเผาไหม้สิ่งต่าง ๆ ได้ เมื่อบุคคลก้าวพลาดไปเหยียบถ่านที่ซ่อนอยู่ใต้เถ้านั้น ถ่านนั้นย่อมสามารถส่งความร้อนเผาไหม้เท้าของบุคคลที่เหยียบนั้นได้

บาปก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะรู้หรือไม่ เมื่อกระทำลงไปแล้ว บาปนั้นย่อมตามแผดเผาบุคคลผู้กระทำให้ได้รับความฉิบหายถ่ายเดียว

ดังนั้น บาปจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำเลย เพราะเมื่อทำไปแล้วไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ต้องได้รับผลของมันอย่างแน่นอน หากบุคคลไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นบุญสิ่งใดเป็นบาป ก็ควรเข้าหาบัณฑิตผู้รู้ ศึกษาสอบถามจากท่านผู้รู้นั้น เมื่อรู้แล้ว ก็หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นบาปเสีย กระทำแต่สิ่งที่เป็นบุญเท่านั้น.