ใจสั่งมา

น สนฺติ กามา มนุเชสุ นิจฺจา “กามทั้งหลายที่เที่ยง ไม่มีในมนุษย์”

น สนฺติ กามา มนุเชสุ นิจฺจา.

[คำอ่าน : นะ, สัน-ติ, กา-มา, มะ-นุ-เช-สุ, นิด-จา]

“กามทั้งหลายที่เที่ยง ไม่มีในมนุษย์”

(สํ.ส. 15/31)

กาม ในที่นี้หมายถึงสิ่งที่เป็นเหตุให้ใคร่ให้พอใจ อันได้แก่กามคุณ ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่าปรารถนาน่าพอใจ

กามคุณดังว่ามานั้น มันไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน มีการผันแปรอยู่เสมอ มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปเหมือนสรรพสิ่งทั้งปวงในโลกนี้

การที่เราจะไปหลงใหลอยู่ในสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอนนั้น ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาด ขาดปัญญาอย่างยิ่ง เพราะการไปหลงยึดติดอยู่ในสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นทุกข์ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เพราะถูกอนิจจตาบีบคั้น และเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้นั้น ไม่ใช่วิถีของบัณฑิตเลย

ผู้มีปัญญาย่อมไม่หลงติดในกามคุณทั้งหลายที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอนนั้น เพราะพิจารณาเห็นด้วยปัญญาแล้วว่า เป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ หาแก่นสารมิได้ จึงเร่งปฏิบัติขัดเกลาตน เพื่อตัดความยินดีพอใจในกามทั้งหลาย ยกระดับจิตให้พ้นจากอำนาจของกามเหล่านั้น อันจะเป็นทางไปสู่ความพ้นทุกข์อย่างถาวร