
ผนฺทนํ จปลํ จิตฺตํ….ทุรกฺขํ ทุนฺนิวารยํ
อุชุํ กโรติ เมธาวี…….อุสุกาโรว เตชนํ.
[คำอ่าน]
ผัน-ทะ-นัง, จะ-ปะ-ลัง, จิด-ตัง….ทุ-รัก-ขัง, ทุน-นิ-วา-ระ-ยัง
อุ-ชุง, กะ-โร-ติ, เม-ทา-วี……………อุ-สุ-กา-โร-วะ, เต-ชะ-นัง
[คำแปล]
“คนมีปัญญา ทำจิตที่ดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยาก ให้ตรงได้ เหมือนช่างศรทำลูกศรให้ตรงฉะนั้น.”
(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/19.
ธรรมดาช่างที่ทำลูกศร ย่อมต้องทำลูกศรนั้นให้ตรง ถ้ามันไม่ตรงก็ต้องหาวิธีดัดให้ตรงจนได้ เพราะลูกศรที่โค้งงอย่อมไม่สามารถใช้งานได้ ไม่สามารถนำไปยิงให้ตรงเป้าหมายได้
จิตของมนุษย์ทั้งหลายเดิมทีก็ไม่ได้เป็นจิตที่ตรง คือไม่ใช่จิตที่มุ่งตรงต่อคุณงามความดีตั้งแต่แรก หากแต่เป็นจิตที่ถูกกิเลสครอบงำ เป็นจิตที่ดิ้นรนเสาะหาสิ่งที่น่าพึงพอใจตามอำนาจกิเลส เป็นจิตที่กวัดแกว่งซัดส่ายไปตามอารมณ์อันต่ำต่าง ๆ เป็นจิตที่รักษาได้ยาก คือรักษาให้คงอยู่ในคุณงามความดีได้ยาก เพราะธรรมชาติของจิตคือมักไหลลงสู่อารมณ์ต่ำ ๆ อยู่เสมอ เหมือนน้ำที่มีปกติไหลลงสู่ที่ต่ำ เป็นสภาพที่ห้ามได้ยาก คือการที่จะห้ามจิตจากสิ่งที่เป็นบาปทั้งหลายนั้นเป็นเรื่องที่ยากนัก
เพราะจิตมีสภาพดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ผู้มีปัญญาทั้งหลายจึงพยายามทำจิตนั้นให้อยู่ในอำนาจ ทำให้จิตนั้นหยุดดิ้นรนกวัดแกว่ง รักษาจิตให้ดำรงคงมั่นอยู่ในคุณงามความดี และห้ามจิตจากอารมณ์ชั่วทั้งหลาย ทำให้จิตมุ่งตรงต่อคุณงามความดี การกระทำดังกล่าวนี้เรียกว่า ทำจิตให้ตรง หรือทำจิตให้หมดพยศ เปรียบเหมือนคนฝึกม้าที่ทำม้าให้หมดพยศ ม้าที่ฝึกดีแล้วหมดพยศแล้วย่อมเป็นม้าที่สามารถใช้งานได้ตามประสงค์ฉันใด จิตที่ฝึกดีแล้วย่อมเป็นจิตที่สร้างประโยชน์ได้ฉันนั้น กระบวนการฝักจิตนี้เรียกว่า ทำจิตให้ตรง คือตรงต่อคุณงามความดี
วิธีที่จะทำจิตให้ตรงได้นั้น คือการทำจิตให้อยู่ในอำนาจ ด้วยการเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน อันเป็นการทำให้จิตไม่ฟุ้งซ่านซัดส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ พิจารณาสิ่งทั้งปวงให้เห็นตามความเป็นจริง ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งลวงโลกตามอำนาจของกิเลส เช่นนี้ จะสามารถทำให้จิตเป็นจิตที่ตรงต่อคุณงามความดีได้ และจิตที่ตรงต่อคุณงามความดีนี้ จะนำพาบุคคลไปสู่ความสุขความเจริญ ประสบประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน.
สารบัญ พุทธศาสนสุภาษิต
- อัตตวรรค หมวดตน
- อัปปมาทวรรค หมวดความไม่ประมาท
- กัมมวรรค หมวดกรรม
- กิเลสวรรค หมวดกิเลส
- โกธวรรค หมวดความโกรธ
- ขันติวรรค หมวดความอดทน
- จิตตวรรค หมวดจิต
- ชยวรรค หมวดความชนะ
- ทานวรรค หมวดทาน
- ทุกขวรรค หมวดทุกข์
- ธัมมวรรค หมวดธรรม
- ปกิณกวรรค หมวดเบ็ดเตล็ด
- ปัญญาวรรค หมวดปัญญา
- ปมาทวรรค หมวดความประมาท
- ปาปวรรค หมวดบาป
- ปุคคลวรรค หมวดบุคคล
- ปุญญวรรค หมวดบุญ
- มัจจุวรรค หมวดความตาย
- มิตตวรรค หมวดมิตร
- ยาจนาวรรค หมวดการขอ
- ราชวรรค หมวดพระราชา
- วาจาวรรค หมวดวาจา
- วิริยวรรค หมวดความเพียร
- เวรวรรค หมวดเวร
- สัจจวรรค หมวดความสัตย์
- สติวรรค หมวดสติ
- สัทธาวรรค หมวดศรัทธา
- สันตุฏฐิวรรค หมวดสันโดษ
- สมณวรรค หมวดสมณะ
- สามัคคีวรรค หมวดสามัคคี
- สีลวรรค หมวดศีล
- สุขวรรค หมวดความสุข
- เสวนาวรรค หมวดการคบหา