ใจสั่งมา

ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดี ฉันใด ราคะย่อมรั่วรดจิตที่ไม่ได้อบรม ฉันนั้น

ยถา อคารํ ทุจฺฉนฺนํ     วุฏฺฐี สมติวิชฺฌติ
เอวํ อภาวิตํ จิตฺตํ     ราโค สมติวิชฺฌติ.

[คำอ่าน]

ยะ-ถา, อะ-คา-รัง, ทุด-ฉัน-นัง…..วุด-ถี, สะ-มะ-ติ-วิด-ชะ-ติ
เอ-วัง, อะ-พา-วิ-ตัง, จิด-ตัง…..รา-โค, สะ-มะ-ติ-วิด-ชะ-ติ

[คำแปล]

“ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดี ฉันใด ราคะย่อมรั่วรดจิตที่ไม่ได้อบรม ฉันนั้น.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/16.

ธรรมดาบ้านเรือนที่มุงหลังคาไม่ดี ย่อมไม่สามารถกันแดดกันฝนได้ หรือกันได้ไม่ดี บ้านที่มีหลังคารั่ว เมื่อฝนตกลงมาน้ำฝนย่อมไหลเข้าบ้านได้ ทำให้บ้านเปียกหรือสกปรก เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมสร้างความลำบากให้เจ้าของบ้านหรือผู้อยู่อาศัย ต้องคอยเช็ดคอยทำความสะอาด หรือถ้ารั่วมาก ๆ ก็ถึงขั้นนอนไม่ได้เลยทีเดียว ทำให้เกิดความทุกข์ยากลำบากในการอยู่อาศัยในบ้านนั้น

จิตของคนเราก็เปรียบเสมือนบ้านที่จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองด้วยดี เรามุงหลังคาบ้านเพื่อป้องกันฝนตามธรรมชาติฉันใด ก็พึงมุงบังจิตด้วยหลังคาคือกรรมฐานเพื่อป้องกันฝนคือราคะฉันนั้น

ฝนตามธรรมชาติรั่วรดเรือนทำให้เรือนเปียกยังพอเช็ดให้แห้งหรือทำความสะอาดได้ไม่ยากนัก แต่ฝนคือราคะรั่วรดจิตนี่จัดการได้ยากเหลือเกิน เพราะฝนคือราคะที่ว่านี้มันตกอยู่ตลอดเวลา ไม่เลือกฤดูกาล

เมื่อราคะคือความกำหนัดรั่วรดจิตเมื่อใด จิตย่อมตกเป็นทาสของมัน ทำกรรมชั่วสารพัดตามที่มันสั่งการให้กระทำ เสาะแสวงหาสิ่งที่น่าใคร่น่าพอใจไม่หยุดหย่อนตามที่ราคะบงการให้เป็นไป ทำให้เกิดทุกข์เกิดโทษทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราทั้งหลายจะต้องหมั่นฝึกฝนอบรมจิตด้วยการหมั่นปฏิบัติกรรมฐาน โดยเฉพาะวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งเป็นเหมือนการสร้างหลังคาที่มั่นคงมุงบังจิตไว้ไม่ให้ฝนคือราคะรั่วรดได้

เมื่อบุคคลหมั่นฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอยู่เนืองนิตย์ พิจารณาสรรพสิ่งให้เห็นตามความเป็นจริง ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งลวงโลกทั้งหลาย เห็นสรรพสิ่งเป็นไปตามกฎพระไตรลักษณ์คือ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นทุกข์ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ มีอันเสื่อมสลายไปในที่สุด เช่นนี้ จิตย่อมสามารถคลายกำหนัดเสียได้ ไม่ยินดียินร้ายในสิ่งทั้งปวง ไม่ถูกฝนคือราคะรั่วรดครอบงำ เมื่อทำได้ดังนี้ บุคคลนั้นย่อมประสบกับความสุขอันหาประมาณมิได้.