ใจสั่งมา

ผู้ฉลาดนั้นเป็นผู้เพ่งพินิจ มีความเพียรติดต่อ บากบั่นมั่นคง ฯลฯ

เต ฌายิโน สาตติกา     นิจฺจํ ทฬฺหปรกฺกมา
ผุสนฺติ ธีรา นิพฺพานํ     โยคกฺเขมํ อนุตฺตรํ.

[คำอ่าน]

เต, ชา-ยิ-โน, สา-ตะ-ติ-กา…..นิด-จัง, ทัน-หะ-ปะ-รัก-กะ-มา
ผุ-สัน-ติ, ที-รา, นิบ-พา-นัง……โย-คัก-เข-มัง, อะ-นุด-ตะ-รัง

[คำแปล]

“ผู้ฉลาดนั้นเป็นผู้เพ่งพินิจ มีความเพียรติดต่อ บากบั่นมั่นคงเป็นนิตย์ ย่อมถูกต้องพระนิพพานอันปลอดจากโยคะ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/18.

นิพพาน แปลว่า ดับ หมายถึง ความดับกิเลสตัณหาทั้งปวงอันเป็นสาเหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏที่ถือว่าเป็นห้วงทะเลแห่งความทุกข์ เมื่อบุคคลสามารถเข้าถึงนิพพานได้แล้ว ก็หมดเชื้อหมดยางที่จะทำให้กลับมาเกิดในสังสารวัฏอีก เป็นการดับทุกข์ได้สิ้นเชิง เข้าถึงเอกันตบรมสุข ซึ่งเป็นความสุขที่ไม่ต้องกลับมาทุกข์อีกแล้ว

พระนิพพานนั้น เรียกว่า เป็นธรรมที่ปลอดจากโยคะคือสภาพอันประกอบสรรพสัตว์ไว้กับความทุกข์ เพราะผู้ที่เข้าถึงพระนิพพานได้แล้ว ย่อมทำลายโยคะทั้ง 4 ประการ คือ กามโยคะ ภวโยคะ ทิฏฐิโยคะ และอวิชชาโยคะ เสียได้

อีกอย่างหนึ่ง นิพพาน จัดว่าเป็นที่สุดแห่งธรรมทั้งปวง คือไม่มีธรรมอื่นใดที่ยิ่งกว่านิพพาน ทั้งกุศลธรรมและอกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่สามารถส่งผลให้บุคคลผู้เข้าถึงนิพพานแล้วต้องกลับมาเสวยวิบากอีก ดังนั้น นิพพานจึงเป็นธรรมที่หาธรรมอื่นยิ่งกว่าไม่มี

บุคคลผู้มีปัญญา พิจารณาเห็นว่าโลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ การเวียนเกิดและเวียนตายบ่อย ๆ ในสังสารวัฏนี้เป็นทุกข์ แล้วมีความเพียรบากบั่นในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเพื่อทำลายกิเลสตัณหาอันเป็นตัวก่อทุกข์ เมื่อเพียรพยายามอย่างไม่หยุดหย่อน ไม่ย่อท้อ ไม่อ่อนข้อให้กับอำนาจของกิเลสที่มายั่วยุ สุดท้าย ย่อมสามารถเข้าถึงพระนิพพานอันเป็นที่เกษมจากโยคะได้.