ใจสั่งมา

ราชรถอันงดงามย่อมคร่ำคร่า แม้ร่างกายก็เข้าถึงชรา ฯลฯ

ชีรนฺติ เว ราชรถา สุจิตฺตา
อโถ สรีรมฺปิ ชรํ อุเปติ
สตญฺจ ธมฺโม น ชรํ อุเปติ
สนฺโต หเว สพฺภิ ปเวทยนฺติ.

[คำอ่าน]

ชี-รัน-ติ, เว, รา-ชะ-ระ-ถา, สุ-จิด-ตา
อะ-โถ, สะ-รี-รำ-ปิ, ชะ-รัง, อุ-เป-ติ
สะ-ตัน-จะ, ทำ-โม, นะ, ชะ-รัง, อุ-เป-ติ
สัน-โต, หะ-เว, สับ-พิ, ปะ-เว-ทะ-ยัน-ติ

[คำแปล]

“ราชรถอันงดงามย่อมคร่ำคร่า แม้ร่างกายก็เข้าถึงชรา ส่วนธรรมของสัตบุรุษย่อมไม่เข้าถึงชรา สัตบุรุษกับสัตบุรุษเท่านั้น ย่อมรู้กันได้.”

(พุทฺธ) สํ.ส. 15/102.

สังขารทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่เป็นอุปาทินกสังขาร คือสังขารที่มีใจครอง ได้แก่ สิ่งมีชีวิตทั้งปวง และอนุปาทินกสังขาร คือสังขารที่ไม่มีใจครอง ได้แก่สิ่งที่ไม่มีชีวิตทั้งหลาย ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

สิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลาย เช่น บ้าน รถ เครื่องประดับตกแต่ง เป็นต้น แม้จะสวยงามอลังการขนาดไหน ก็ย่อมเข้าถึงความคร่ำคร่าตามสมัย เก่าไปตามกาลเวลา และผุพังไปในที่สุด

ร่างกายของคนและสัตว์ทั้งหลาย แม้จะได้รับการทะนุถนอมดูแลด้วยดีขนาดไหน ก็ย่อมเข้าถึงความชราตามสมัย แก่หง่อมไปตามกาลเวลา และแตกสลายไปในที่สุดเช่นเดียวกัน

ส่วนธรรมของสัตบุรุษ คือหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นอกาลิโก คือไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ไม่ขึ้นอยู่กับการเวลา คือไม่มีคำว่าล้าสมัย ไม่มีคำว่าเก่า คือสามารถนำมาปฏิบัติได้และให้ผลได้จริงทุกยุคทุกสมัย

ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็ยังคงทันสมัยอยู่เสมอ ขอเพียงศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้ และนำมาปฏิบัติให้ถูกต้อง ย่อมสามารถเห็นผลได้ทุกเวลา.