ใจสั่งมา

หากกล่าวพุทธพจน์อันมีประโยชน์ได้มาก แต่เป็นคนประมาท ฯลฯ

พหุมฺปิ เจ สหิตํ ภาสมาโน
น ตกฺกโร โหติ นโร ปมตฺโต
โคโปว คาโว คณยํ ปเรสํ
น ภาควา สามญฺญสฺส โหติ.

[คำอ่าน]

พะ-หุม-ปิ, เจ, สะ-หิ-ตัง, พา-สะ-มา-โน
นะ, ตัก-กะ-โร, โห-ติ, นะ-โร, ปะ-มัด-โต
โค-โป-วะ, คา-โว, คะ-นะ-ยัง, ปะ-เร-สัง
นะ, พา-คะ-วา, สา-มัน-ยัด-สะ, โห-ติ

[คำแปล]

“หากกล่าวพุทธพจน์อันมีประโยชน์ได้มาก แต่เป็นคนประมาท ไม่ทำตามพุทธพจน์นั้น ก็ไม่มีส่วนแห่งสามัญผล เหมือนคนเลี้ยงโค คอยนับโคให้อื่นอื่นฉะนั้น.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/17.

บุคคลผู้ประมาท คือบุคคลผู้ลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งลวงโลกทั้งหลายอันไม่เป็นของจริง ทำให้เพิกเฉยในการประกอบคุณงามความดี นอกจากนั้นยังหลงไปกระทำความผิดทำบาปทำกรรมต่าง ๆ นานา อันจะเป็นการก่อความฉิบหายให้แก่ตนเองทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ใช้ชีวิตเหลวไหลไร้สาระ ไม่สร้างคุณประโยชน์ใด ๆ ให้แก่ตนเองและผู้อื่น

บุคคลผู้ประมาทดังกล่าว แม้จะรู้พุทธพจน์อันเป็นประโยชน์จำนวนมาก สามารถท่องจำและแนะสำพร่ำสอนบุคคลอื่นได้ แต่ตนเองไม่นำพุทธพจน์เหล่านั้นมาปฏิบัติด้วยตนเอง เขาย่อมไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ จากพุทธพจน์เหล่านั้น ไม่สามารถเข้าถึงแก่นแท้ของพุทธพจน์เหล่านั้น ไม่สามารถเข้าถึงประโยชน์อันจะพึงเกิดจากพุทธพจน์เหล่านั้นได้เลย

บุคคลผู้ประมาทนั้น ย่อมเปรียบเสมือนคนที่รับจ้างเลี้ยงวัวให้คนอื่น เขาได้แต่เลี้ยงวัว ดูและวัวเหล่านั้นตามคำสั่งของเจ้าของวัว แต่ในขณะเดียวกัน เขาไม่สามารถถือเอาประโยชน์ใด ๆ จากวัวเหล่านั้นได้เลย.