ใจสั่งมา

ให้ทานเป็นต้นก่อน จึงได้สุขบัดนี้ เหมือนรดน้ำที่โคน ให้ผลที่ปลาย

ปุพฺเพ ทานาทิกํ ทตฺวา     อิทานิ ลภตี สุขํ
มูเลว สิญฺจิตํ โหติ     อคฺเค จ ผลทายกํ.

[คำอ่าน]

ปุบ-เพ, ทา-นา-ทิ-กัง, ทัด-ตะ-วา….อิ-ทา-นิ, ละ-พะ-ตี, สุ-ขัง
มู-เล-วะ, สิน-จิ-ตัง, โห-ติ….อัก-เค, จะ, ผะ-ละ-ทา-ยะ-กัง

[คำแปล]

“ให้ทานเป็นต้นก่อน จึงได้สุขบัดนี้ เหมือนรดน้ำที่โคน ให้ผลที่ปลาย.”

สทฺทสารตฺถชาลินี.

การให้ทาน คือการสละให้ปันสิ่งของของตนแก่ผู้อื่น เป็นการบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุเบื้องต้นที่จะว่าทำง่ายก็ง่ายอยู่ แต่ถ้าจะว่ายากก็ยากอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

การทำทาน ที่ว่าง่าย เพราะเมื่อบุคคลมีทรัพย์สินสิ่งของ ก็สามารถที่จะสละให้ปันแก่ผู้อื่นได้ ที่ว่ายาก เพราะต้องฝืนต่อมัจฉริยะคือความตระหนี่ที่มีอยู่ในใจ ถ้าไม่สามารถเอาชนะความตระหนี่ได้ การสละให้ปันก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

การให้ทานนั้น เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความสุข สุขทั้งผู้ให้และผู้รับ

ผู้ที่ได้รับน้ำใจจากผู้อื่น ได้รับมอบสิ่งของจากผู้อื่น ย่อมมีความดีใจ มีความสุขใจที่ได้รับสิ่งของนั้น โดยเฉพาะผู้ที่กำลังลำบาก กำลังอยู่ในสถานะที่ต้องการความช่วยเหลือหรือต้องการสิ่งของนั้น ๆ เมื่อได้รับการช่วยเหลือ ได้รับการแบ่งปัน ย่อมมีความสุขเป็นอันมาก

ผู้ให้ เมื่อสามารถเอาชนะความตระหนี่ในใจได้ ได้บำเพ็ญทานบารมีด้วยการสละให้ปัน ได้ช่วยเหลือผู้อื่น ย่อมมีความสุขใจ มีความปีติในบุญที่ตนเองได้บำเพ็ญ ยิ่งเมื่อได้เห็นสีหน้าที่ยิ้มแย้มอย่างมีความสุขของผู้รับ ผู้ให้ก็ยิ่งมีความสุขใจเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ

อีกอย่างหนึ่ง การให้ทานนั้นเป็นการทำบุญที่ส่งผลต่อไปในภพหน้า ผู้ที่หมั่นให้ทานในภพนี้ เมื่อเกิดในภพหน้าย่อมได้รับอานิสงส์แห่งบุญอันเกิดจากทานนั้น ก่อให้เกิดความสุขความเจริญ มั่งมีศรีสุขในภพที่ตนเกิด หรือทานที่บุคคลเคยกระทำไว้ในภพก่อน ๆ ย่อมก่อให้เกิดความมั่งมีศรีสุขในภพนี้

กล่าวได้ว่า ความมั่งมีศรีสุขที่เกิดขึ้นปัจจุบัน เป็นผลสืบเนื่องมาจากทานมัยบุญกิริยาวัตถุที่ได้บำเพ็ญไว้ในภพก่อน และทานมัยบุญกิริยาวัตถุที่บำเพ็ญในภพนี้ ก็จะส่งผลให้เกิดความมั่งมีศรีสุขในภพหน้า เหมือนปลูกข้าวตอนนี้ จะได้บริโภคข้าวนั้นในอนาคต ดังนั้น การสละให้ปัน การทำบุญทำทานนั้น เมื่อมีกำลังก็พึงทำให้มาก ๆ เพราะทานนั้นจะให้ผลเป็นสุขในเบื้องหน้าแน่นอน.