ใจสั่งมา

นามและรูปย่อมดับไม่เหลือในที่ใด นามและรูปนี้ย่อมดับในที่นั้น ฯลฯ

ยตฺถ นามญฺจ รูปญฺจ     อเสสํ อุปรุชฺฌติ
วิญฺญาณสฺส นิโรเธน     เอตฺเถตํ อุปรุชฺฌติ.

[คำอ่าน]

ยัด-ถะ, นา-มัน-จะ, รู-ปัน-จะ..….อะ-เส-สัง, อุ-ปะ-รุด-ชะ-ติ
วิน-ยา-นัด-สะ, นิ-โร-เท-นะ…..เอด-เถ-ตัง, อุ-ปะ-รุด-ชะ-ติ

[คำแปล]

“นามและรูปย่อมดับไม่เหลือในที่ใด นามและรูปนี้ย่อมดับในที่นั้น เพราะวิญญาณดับ.”

(พุทฺธ) ขุ.สุ. 25/531, ขุ.จู. 30/21.

คำว่า “นาม” ได้แก่ นามธรรม หมายเอาอรูปขันธ์ 4 คำว่า “รูป” ได้แก่ รูปธรรม หมายเอา มหาภูตรูป 4 และรูปอันอาศัยมหาภูตรูปนั้น คำว่า “ดับไม่เหลือ” หมายความว่า เข้าถึงความตั้งอยู่ไม่ได้อย่างสิ้นเชิงโดยไม่มีส่วนเหลือ หรือ เข้าถึงความสงบระงับ โดยความหมายก็คือ ดับโดยไม่เกิดอีก

คำว่า “นามและรูปนี้ย่อมดับในที่นั้นเพราะวิญญาณดับ” มีคำอธิบายที่ท่านกล่าวไว้ในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 22 ขุททกนิกาย จูฬนิเทส ว่า

คำว่า นามรูปนั้นดับ ณ ที่นั้น เพราะความดับแห่งวิญญาณ ความว่า ธรรมเหล่าใด คือ นามและรูป พึงเกิดขึ้นในสงสารมีส่วนเบื้องต้น และที่สุดอันรู้ไม่ได้ เว้นภพ 7 ธรรมเหล่านั้นย่อมดับ คือ ย่อมสงบ ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไป ณ ที่นั้น เพราะความดับแห่งวิญญาณอันสัมปยุตด้วยอภิสังขารธรรม ด้วยโสดาปัตติมรรคญาณ. ธรรมเหล่าใด คือ นามและรูป พึงเกิดขึ้นในภพ 5 เว้นภพ 2 ธรรมเหล่านั้น ย่อมดับ คือ ย่อมสงบ ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไป ณ ที่นั้น เพราะความดับแห่งวิญญาณอันสัมปยุตด้วยอภิสังขารธรรม ด้วยสกทาคามิมรรคญาณ. ธรรมเหล่าใด คือ นามและรูป พึงเกิดขึ้นในกามธาตุ รูปธาตุ หรืออรูปธาตุ เว้นภพ ธรรมเหล่านั้นย่อมดับ คือ ย่อมสงบ ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไป ณ ที่นั้น เพราะความดับแห่งวิญญาณอันสัมปยุตด้วยอภิสังขารธรรม ด้วยอนาคามิมรรคญาณ. ธรรมเหล่าใด คือ นามและรูป พึงเกิดขึ้น ธรรมเหล่านั้นย่อมดับ คือ ย่อมสงบ ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไป ณ ที่นั้น เพราะความดับแห่งวิญญาณอันสัมปยุตด้วยอภิสังขารธรรม ด้วยอรหัตมรรคญาณ. เมื่อพระอรหันต์ปรินิพพานด้วยปรินิพพานธาตุอันเป็นอนุปาทิเสส ธรรมเหล่านี้ คือ ปัญญา สติ และ นามรูป ย่อมดับ คือ ย่อมสงบ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ย่อมระงับไป ณ ที่นั้น เพราะความดับแห่งวิญญาณดวงก่อน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นามรูปนั้นย่อมดับ ณ ที่นั้น เพราะความดับแห่งวิญญาณ.