ใจสั่งมา

ผู้ทำบาป ย่อมเศร้าโศกในโลกนี้ ละไปแล้วก็เศร้าโศก ฯลฯ

อิธ โสจติ เปจฺจ โสจติ     ปาปการี อุภยตฺถ โสจติ
โส โสจติ โส วิหญฺญติ     ทิสฺวา กมฺมกิลิฏฺฐมตฺตโน.

[คำอ่าน]

อิ-ทะ, โส-จะ-ติ, เปด-จะ, โส-จะ-ติ……ปา-ปะ-กา-รี, อุ-พะ-ยัด-ถะ, โส-จะ-ติ
โส, โส-จะ-ติ, โส, วิ-หัน-ยะ-ติ……ทิด-สะ-หวา, กำ-มะ-กิ-ลิด-ถะ-มัด-ตะ-โน

[คำแปล]

“ผู้ทำบาป ย่อมเศร้าโศกในโลกนี้ ละไปแล้วก็เศร้าโศก ชื่อว่าเศร้าโศกในโลกทั้งสอง เขาเห็นกรรมอันเศร้าหมองของตน จึงเศร้าโศกและเดือดร้อน.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/17.

บาป คือสภาวะที่ทำให้จิตใจตกต่ำ ตกจากคุณงามความดี ตกจากคุณธรรมที่จะพึงได้พึงถึง เป็นสภาวะที่ชั่ว ทำจิตใจของคนและสัตว์ทั้งหลายให้เศร้าหมอง

การกระทำที่เป็นบาป เรียกว่า ทุจริต แบ่งเป็น 3 หมวดใหญ่ ๆ คือ

กายทุจริต 3 ประการ ประกอบด้วย

  1. การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
  2. การลักทรัพย์
  3. การประพฤติผิดในกาม

วจีทุจริต 4 ประการ ประกอบด้วย

  1. การพูดเท็จ
  2. การพูดส่อเสียด
  3. การพูดคำหยาบ
  4. การพูดเพ้อเจ้อ

มโนทุจริต 3 ประการ ประกอบด้วย

  1. การคิดละโมบอยากได้ของคนอื่นมาครอบครองในทางที่ผิด
  2. การคิดอาฆาตพยาบาทผู้อื่น
  3. การเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม (มิจฉาทิฏฐิ)

บุคคลผู้ประกอบทุจริต 3 ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมด ได้ชื่อว่ากระทำบาป ย่อมได้รับความเดือดร้อนเพราะผลแห่งบาปเหล่านั้น ความเศร้าโศกย่อมเกิดแก่เขาเมื่อมานึกถึงกรรมอันเป็นบาปของตนหรือเมื่อได้รับผลแห่งกรรมอันเป็นบาปนั้น เช่น ถูกปรับไหมใส่โทษ จองจำพันธนาการ ดูหมิ่นเหยียดหยาม เป็นต้น ชื่อว่าย่อมเศร้าโศกในโลกนี้

เมื่อเขาต้องตายจากโลกนี้ไป เขาต้องไปเสวยวิบากแห่งกรรมอันเป็นบาปที่ตนได้กระทำไว้ในทุคติอบายภูมิจนกว่ากรรมอันชั่วช้าลามกนั้นจะหมดสิ้นไป ชื่อว่า ละไปแล้วย่อมเศร้าโศก คือตายจากโลกนี้ไปแล้วก็ยังต้องได้รับความเศร้าโศกเพราะผลแห่งบาปนั้นในโลกหน้าอีกด้วย

บุคคลผู้กระทำบาปทั้งหลาย ย่อมเศร้าโศกทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ดังกล่าวมาฉะนี้.