ใจสั่งมา

ผู้ถึงพร้อมด้วยสัมมัปปธาน มีสติปัฏฐานเป็นอารมณ์ ฯลฯ

สมฺมปฺปธานสมฺปนฺโน     สติปฏฺฐานโคจโร
วิมุตฺติกุสุมสญฺฉนฺโน     ปรินิพฺพายิสฺสตฺยนาสโว.

[คำอ่าน]

สำ-มับ-ปะ-ทา-นะ-สำ-ปัน-โน…..สะ-ติ-ปัด-ถา-นะ-โค-จะ-โร
วิ-มุด-ติ-กุ-สุ-มะ-สัน-ฉัน-โน…..ปะ-ริ-นิบ-พา-ยิด-สัด-ตะ-ยะ-นา-สะ-โว

[คำแปล]

“ผู้ถึงพร้อมด้วยสัมมัปปธาน มีสติปัฏฐานเป็นอารมณ์ ดารดาษไปด้วยดอกไม้คือวิมุตติ หาอาสวะมิได้ จักปรินิพพาน.”

(เทวสภเถร) ขุ.เถร. 26/282.

สัมมัปปธาน คือ ความเพียรชอบ หรือ ความเพียรที่ตั้งไว้โดยชอบ มี 4 อย่าง คือ

  1. สังวรปธาน ความเพียรระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้น
  2. ปหานปธาน ความเพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
  3. ภาวนาปธาน ความเพียรสร้างกุศลให้เกิดขึ้น
  4. อนุรักขนาปธาน ความเพียรรักษากุศลธรรมทั้งหลายไว้ไม่ให้เสื่อม

สติปัฏฐาน แปลว่า ที่ตั้งของสติ หมายถึง สิ่งที่จะต้องใช้สติกำหนดพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริง เพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้ง มี 4 ประการ คือ

  1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย ให้รู้เห็นตามความเป็นจริง
  2. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา
  3. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต
  4. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรมารมณ์

บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยสัมมัปปธานทั้ง 4 ประการ มีความเพียรในการระวังบาป ละบาป สร้างกุศล และรักษาคุณงามความดีที่มีอยู่ไม่ให้เสื่อมสิ้น พร้อมทั้งหมั่นปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานบนพื้นฐานของสติปัฏฐาน 4 ย่อมสามารถกำจัดกิเลสาสวะออกจากจิตใจได้ทีละน้อยจนหมดสิ้น เข้าถึงวิมุตติคือความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เข้าสู่นิพพานได้ในที่สุด.