ใจสั่งมา

ตายแล้วไปไหน?

คนเราทุกคน เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วล้วนต้องตายกันทั้งนั้น ไม่มีใครหนีความตายพ้นสักคนเดียว ทีนี้ก็มีคำถามว่า ตายแล้วไปไหน?

คำตอบของคำถามข้างต้นนั้น มีดังนี้ครับ

คนที่มีโทสะมากจะไปนรก

โทสะ คือ ความโกรธ เป็นทางไปนรก คนที่มีโทสะมาก ๆ เป็นคนมักโกรธ อารมณ์ฉุนเฉียวหงุดหงิดง่าย ใครทำอะไรให้ไม่พอใจก็โกรธเป็นฟื้นเป็นไฟ กระทำบาปเพราะความโกรธเป็นต้นเหตุบ่อย ๆ เวลาใกล้จะตายจะปรากฏกรรมเห็นแต่การกระทำบาป หรือปรากฏเห็นแต่กรรมนิมิตเครื่องมือที่ทำบาป และคตินิมิตนรกขุมที่จะตกไป เมื่อได้อารมณ์อันใดอันหนึ่งเช่นนี้แล้วตายไปในขณะนั้น เขาย่อมไปเกิดในนรก

คนที่มีโลภะมากจะไปเกิดเป็นเปรต

โลภะ คือ ความโลภ เป็นทางไปสู่ภูมิของเปรตและอสุรกาย แต่ต้องเป็นโลภะที่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ คนที่ทำทุจริตกรรมอันมีโลภะเป็นมูลหรือมีสาเหตุมาจากโลภะบ่อย ๆ เช่น การทำโจรกรรม ปล้นชิงวิ่งราว ประพฤติผิดในกาม โกหก หลอกลวง ต้มตุ๋น เป็นต้น

คนประเภทนี้ เมื่อจวนจะสิ้นชีวิต จะเห็นทุจริตกรรมที่ตนได้กระทำด้วยความโลภมาประกฏ บางทีปรากฏเป็นกรรมนิมิต เครื่องหมายแห่งการขโมย เป็นต้น ที่ตนได้ทำไปด้วยอำนาจโลภะ ปรากฏขึ้นมาเป็นอารมณ์ บางทีก็ปรากฏเป็นคตินิมิต เห็นเป็นโคลนตมริมแม่น้ำลำคลองหรือชายป่า ถ้าขาดใจตายลงไปในขณะนั้น ก็จะไปเกิดในภพภูมิแห่งเปรตและอสุรกาย ตามผลแห่งวิบากกรรมที่ตามสนองนั้น

คนที่มีโมหะมากจะไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน

โมหะ คือ ความหลง ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ เป็นทางไปสู่ภพภูมิแห่งสัตว์ดิรัจฉาน คนที่ถูกโมหะครอบงำมาก ๆ จนไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ไม่รู้จักประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ กระทำบาปกรรมต่าง ๆ นานาด้วยอำนาจของโมหะอยู่เป็นประจำ เวลาใกล้จะตายจะปรากฏกรรม การกระทำบาปต่าง ๆ เป็นอารมณ์ หรือเป็นกรรมนิมิต คตินิมิต เมื่อตายแล้วก็ไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน

คนที่รักษาศีลดีจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์

เบญจศีล เบญจธรรม เรียกว่า มนุสสธรรม คือธรรมที่ทำให้เกิดมาเป็นมนุษย์ คนที่รักษาเบญจศีลและประพฤติเบญจธรรมอยู่เป็นประจำ เมื่อตายไปแล้วก็จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ได้อีก แต่การเป็นมนุษย์นั้นจะสมบูรณ์แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่า เขาได้รักษาศีลมาสมบูรณ์แค่ไหน ถ้ามีข้อบกพร่องในศีลอยู่บ้าง ความเป็นมนุษย์ก็จะมีข้อบกพร่องบ้าง ตามสัดส่วน

ถ้ารักษาศีลข้อที่ 1 ไม่สมบูรณ์ ยังมีการเบียดเบียนสัตว์อยู่บ้าง ขาดเมตตากรุณาอยู่บ้าง เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะมีอายุสั้น หรือโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน มีปัญหาสุขภาพอยู่เนือง ๆ

ถ้ารักษาศีลข้อที่ 2 ไม่สมบูรณ์ ยังมีการลักทรัพย์ ประพฤติมิจฉาชีพอยู่บ้างเป็นบางครั้งบางคราว เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเป็นคนยากจน หาเช้ากินค่ำ ทำมาค้าขายไม่ขึ้น

ถ้ารักษาศีลข้อที่ 3 ไม่สมบูรณ์ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็มักจะถูกหลอกลวง ผิดหวังในความรัก หรือมีเหตุให้ต้องเสียตัว ได้รับความชอกช้ำระกำใจ

ถ้ารักษาศีลข้อที่ 4 ไม่สมบูรณ์ ชอบโกหก ไม่มีสัจจวาจา เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็มักจะถูกใส่ความต่าง ๆ นานา ไม่ได้ทำความผิดก็ถูกกล่าวหาว่ามีความผิด เป็นต้น

ถ้ารักษาศีลข้อที่ 5 ไม่สมบูรณ์ ชอบดื่มสุรายาเมา เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ก็จะเป็นคนสติไม่สมบูรณ์ ไม่เฉลียวฉลาด ขาดปัญญา เป็นต้น

บางคนเกิดมาแล้วมีอายุยืนยาว มีโรคน้อย ร่ำรวยเงินทอง เป็นต้น ก็เพราะชาติก่อน ๆ นั้นรักษาเบญจศีลและประพฤติเบญจธรรมอย่างสมบูรณ์

คนที่มีหิริโอตตัปปะบำเพ็ญกุศลกรรมบถเสมอจะไปเกิดบนสวรรค์

หิริ คือ ความละอายต่อบาป และ โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวต่อผลของบาป และ กุศลกรรมบถ 10 ประการ เป็นทางไปสู่สวรรค์

คนที่มีความละอายต่อการทำบาป กลัวต่อการให้ผลของบาป แล้วเว้นจากการทำบาปทั้งหลาย พร้อมกันนี้ก็บำเพ็ญกุศลกรรมบถ 10 ประการ มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น อย่างสม่ำเสมอ เมื่อถึงคราวตายบุญกุศลเหล่านั้นจะมาปรากฏเป็นอารมณ์ เป็นกรรมนิมิต แล้วจิตก็จะยึดเอากรรมนิมิตเหล่านั้นเป็นอารมณ์ หรือไม่เช่นนั้นก็จะปรากฏเป็นคตินิมิต เช่น เห็นวิมาน เห็นผ้าทิพย์ เห็นเครื่องทรงของเทวดา เป็นต้น แล้วจิตก็ยึดเอาคตินิมิตเหล่านั้นเป็นอารมณ์ เมื่อตายไปในขณะนั้น ก็จะไปบังเกิดในเทวโลกชั้นกามาวจร 6 ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่ง ตามอำนาจแห่งบุญที่สั่งสมไว้ ดังนี้

  • ชั้นจาตุมหาราชิกา อายุยืน 500 ปีทิพย์
  • ชั้นดาวดึงส์ อายุยืน 1,000 ปีทิพย์
  • ชั้นยามา อายุยืน 2,000 ปีทิพย์
  • ชั้นดุสิตา อายุยืน 4,000 ปีทิพย์
  • ชั้นนิมมานรดี อายุยืน 8,000 ปีทิพย์
  • ชั้นปรนิมมิตวัสสวัตตี อายุยืน 16,000 ปีทิพย์

คนที่ได้ฌานจะไปเกิดบนพรหมโลก

ฌาน เป็นทางไปสู่พรหมโลก บุคคลผู้ได้ฌาน ถ้าฌานไม่เสื่อมในเวลาสิ้นชีวิต ฌานจะเป็นปัจจัยให้ไปปฏิสนธิในพรหมโลกชั้นต่าง ๆ ดังนี้

  • ผู้ได้รูปาวจรฌานกุศลอย่างต่ำ มีอำนาจให้เกิดปฐมฌานวิปากจิต ปฏิสนธิในพรหมปาริสัชชา ในปฐมฌานภูมิ มีอายุยืน ส่วน 1 ใน 4 ของกัป
  • ผู้ได้รูปาวจรปฐมฌานกุศลอย่างกลาง มีอำนาจให้เกิดปฐมฌานวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นพรหมปุโรหิตา ในปฐมฌานภูมิ มีอายุยืนส่วน 1 ใน 2 ของกัป
  • ผู้ได้รูปาวจรปฐมฌานกุศลอย่างประณีต มีอำนาจให้เกิดปฐมฌานวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นมหาพรหม ในปฐมฌานภูมิ มีอายุยืน 1 มหากัป
  • ผู้ได้รูปาวจรทุติยฌานกุศลอย่างต่ำ มีอำนาจให้เกิดทุติยฌานวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นพรหมปริตตาภา ในทุติยฌานภูมิ มีอายุยืน 2 มหากัป
  • ผู้ได้รูปาวจรทุติยฌานกุศลอย่างกลาง มีอำนาจให้เกิดทุติยฌานวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นพรหมอัปปมาณาภา ในทุติยฌานภูมิ มีอายุยืน 4 มหากัป
  • ผู้ได้รูปาวจรทุติยฌานกุศลอย่างประณีต มีอำนาจให้เกิดทุติยฌานวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นพรหมอาภัสรา ในทุติยฌานภูมิ มีอายุยืน 8 มหากัป
  • ผู้ได้รูปาวจรตติยฌานกุศลอย่างต่ำ มีอำนาจให้เกิดตติยฌานวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นพรหมปริตตาภา ในตติยฌานภูมิ มีอายุยืน 16 มหากัป
  • ผู้ได้รูปาวจรตติยฌานกุศลอย่างกลาง มีอำนาจให้เกิดตติยฌานวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นพรหมอัปปมาณสุภา ในตติยฌานภูมิ มีอายุยืน 32 มหากัป
  • ผู้ได้รูปาวจรติยฌานกุศลอย่างประณีต มีอำนาจให้เกิดตติยฌานวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นพรหมสุภกิณหกา ในตติยฌานภูมิ มีอายุยืน 64 มหากัป

ผู้ได้จตุตถฌานภูมิ มีอำนาจให้เกิดจตุตถฌานวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นพรหมชั้นใดชั้นหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • ชั้นเวหัปผลา และ อสัญญีสัตตา มีอายุยืน 500 มหากัป
  • ชั้นสุทธาวาส 5 ซึ่งเป็นที่ปฏิสนธิของพระอนาคามี มีอายุยืนตามลำดับดังนี้
    • ชั้นอวิหา มีอายุยืน 1,000 มหากัป
    • ชั้นอตัปปา มีอายุยืน 2,000 มหากัป
    • ชั้นสุทัสสา มีอายุยืน 4,000 มหากัป
    • ชั้นสุทัสสี มีอายุยืน 8,000 มหากัป
    • ชั้นอกนิฏฐา มีอายุยืน 16,000 มหากัป

ผู้ได้อรูปฌาน ย่อมเกิดในอรูปภูมิ ตามลำดับดังนี้

  • ผู้ได้อากาสานัญจายตนฌานกุศล มีอำนาจให้เกิดอากาสานัญจายตนวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นอรูปพรหม ในอากาสานัญจายตนภูมิ มีอายุยืน 20,000 มหากัป
  • ผู้ได้วิญญานัญจายตนฌานกุศล มีอำนาจให้เกิดวิญญานัญจายตนวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นอรูปพรหม ในวิญญานัญจายตนภูมิ มีอายุยืน 40,000 มหากัป
  • ผู้ได้อากิญจัญญายตนฌานกุศล มีอำนาจให้เกิดอากิญจัญญายตนวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นอรูปพรหม ในอากิญจัญญายตนภูมิ มีอายุยืน 60,000 มหากัป
  • ผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนฌานกุศล มีอำนาจให้เกิดเนวสัญญานาสัญญายตนวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นอรูปพรหม (ภวัคคพรหม) ในเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ มีอายุ 84,000 มหากัป

ผู้เข้าถึงพระนิพพานย่อมไม่กลับมาเกิดอีก

พระนิพพาน เป็นหนทางสู่ความดับทุกข์ทั้งปวง ผู้ที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานจนสามารถบรรุอรหัตตผลได้แล้ว เมื่อถึงคราวสิ้นอายุ เราไม่เรียกว่า ตาย แต่เรียกว่า นิพพาน เพราะคำว่า ตาย แปลว่า ไปสู่ภพสาม ภพใดภพหนึ่ง แต่คำว่า นิพพาน แปลว่า ดับ คือดับภพดับชาติ ไม่ต้องกลับมาเกิดอีกแล้ว เราจึงไม่ใช้คำว่า ตาย กับพระอรหันต์ เพราะท่านไม่ไปสู่ภพทั้งสามอีกต่อไปแล้ว ท่านตัดวัฏจักรแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ได้หมดสิ้นแล้ว ทำลายสังสารวัฏได้แล้วนั่นเอง

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หวังว่าทุกท่านจะตัดความสังสัยที่ว่า “ตายแล้วไปไหน?” ได้แล้วนะครับ