ใจสั่งมา

ปิยรูปสาตรูป 10 หมวด หมวดละ 6

ปิยรูปสาตรูป คือ สภาวะที่น่ารักน่าชื่นใจ หมายถึง สิ่งที่มีสภาวะน่ารักน่าชื่นใจ เป็นที่เกิดและเป็นที่ดับของตัณหา เป็นขบวนธรรมที่แสดงให้เห็นความเกิดและความดับแห่งตัณหา มีทั้งหมด 10 หมวด หมวดละ 6 อย่าง ดังนี้

1. อายตนะภายใน 6

อายตนะภายใน คือ ที่เชื่อมต่อให้เกิดความรู้ แดนต่อความรู้ฝ่ายใน หมายถึง ทางเชื่อมต่อให้เกิดความรู้ที่มีอยู่ภายในตัวเรา ทำหน้าที่เชื่อมโยงกับอายตนะภายนอก มี 6 อย่าง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ

2. อายตนะภายนอก 6

อายตนะภายนอก คือ ที่เชื่อมต่อให้เกิดความรู้ แดนต่อความรู้ฝ่ายนอก หมายถึง สิ่งภายนอกที่สามารถรับรู้ได้โดยอาศัยอายตนะภายใน มี 6 อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และ ธรรมารมณ์

3. วิญญาณ 6

วิญญาณ แปลว่า ความรู้แจ้ง หมายถึง ความรู้แจ้งอารมณ์อันได้แก่อายตนะภายนอก 6 ประการ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ คือเมื่ออายตนะภายในกับอายตนะภายนอกกระทบกัน ย่อมเกิดความรู้เฉพาะด้านขึ้นมา เช่น เมื่อตากระทบรูป ย่อมเกิดความรู้ทางตาขึ้นมา เรียกว่า เห็น เป็นต้น ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการกระทบกันของอายตนะภายในกับอายตนะภายนอกนี้ เรียกว่า วิญญาณ มี 6 ประการ เท่ากับอายตนะภายในและอายตนะภายนอก คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และ มโนวิญญาณ

4. สัมผัส 6

สัมผัส หรือ ผัสสะ แปลว่า ความกระทบ หมายถึง ความประจวบกันแห่งอายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ แบ่งเป็น 6 ประการ ตามอายตนะและวิญญาณ คือ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส และ มโนสัมผัส

5. เวทนา 6

เวทนา แปลว่า ความรู้สึก หรือ การเสวยอารมณ์ แบ่งตามช่องทางที่เกิดของเวทนาเป็น 6 ประการ คือ จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา และ มโนสัมผัสสชาเวทนา

6. สัญญา 6

สัญญา คือ ความกำหนดได้หมายรู้ ความจำได้ ความหมายรู้ได้ ความหมายรู้อารมณ์ หมายถึง การกำหนดรู้อาการของอารมณ์นั้น ๆ เช่น ทรวดทรง สันฐาน ตลอดถึงสมมติบัญญัติต่าง ๆ เช่น ขาว ดำ ดัง เบา เป็นต้น เป็นระบบความจำที่สามารถจำคน สัตว์ สิ่งของ และเหตุการณ์ต่างๆ ได้ เช่น จำสิ่งที่เห็น จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำชื่อคน เป็นต้น ตัวอย่างเช่น เมื่อหูได้ยินเสียง เกิดความรู้สึกสบาย เป็นสุข จิตก็จะจดจำหรือหมายรู้ในเสียงนั้นว่า เสียงอย่างนี้ มีลักษณะอย่างนี้ ให้ความรู้สึกอย่างนี้ เป็นต้น มี 6 ประการ คือ รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา และ ธัมมสัญญา

7. สัญเจตนา 6

สัญเจตนา แปลว่า ความจงใจ ความตั้งใจ ความจำนง หรือความแสวงหาอารมณ์ หมายถึง ความคิดปรุงแต่งในรูปสัญญาเป็นต้น กล่าวคือ เมื่อสัญญาคือความหมายรู้เกิดขึ้นแล้ว ความคิดปรุงแต่งก็จะเกิดขึ้นตามมา สัญเจตนา แบ่งเป็น 6 ประการ ตามอารมณ์ที่รับเข้ามา คือ รูปสัญเจตนา สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา รสสัญเจตนา โผฏฐัพพสัญเจตนา และ ธัมมสัญเจตนา

8. ตัณหา 6

ตัณหา แปลว่า ความอยาก หรือ ความทะยานอยาก คือ เมื่อจิตคิดปรุงแต่งให้เกิดความชอบ ความชัง ความพอใจ ความไม่พอใจ เป็นต้นแล้ว ก็จะเกิดตัณหาขึ้นมา เช่น อยากได้อารมณ์ที่ชอบใจ อยากจะพ้นไปจากอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ เป็นต้น มี 6 ประการ คือ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา และ ธัมมตัณหา

9. วิตก 6

วิตก แปลว่า ความตรึก เป็นสภาวะที่เกิดต่อเนื่องมาจากตัณหา คือ เมื่อเกิดตัณหาคือความทะยานอยากในอารมณ์ใดแล้ว จิตก็จะตรึกคือคิดคำนึงในอารมณ์นั้นด้วยอำนาจของความทะยานอยาก จำแนกเป็น 6 อย่าง คือ รูปวิตก สัททวิตก คันธวิตก รสวิตก โผฏฐัพพวิตก และ ธัมมวิตก

10. วิจาร 6

วิจาร แปลว่า ความไตร่ตรองหรือการคิดทบทวน หมายถึง ความไตร่ตรองในอารมณ์ที่ตรึก เป็นสภาวะที่เกิดต่อเนื่องจากวิตกคือความตรึก กล่าวคือ เมื่อเกิดวิตกคือความตรึกในอารมณ์ใด ๆ ด้วยอำนาจความทะยานอยากแล้ว ใจก็นำเอาอารมณ์นั้นมาไตร่ตรองตามแต่จะนึกไปต่าง ๆ นานา เช่น ไตร่ตรองถึงความดีหรือไม่ดีของอารมณ์นั้น ๆ เป็นต้น มี 6 อย่าง คือ รูปวิจาร สัททวิจาร คันธวิจาร รสวิจาร โผฏฐัพพวิจาร และ ธัมมวิจาร